ภูมิภาค-สังศิตฯ นำกรรมาธิการลดความเหลื่อมล้ำฯวุฒิสภาจับมือกระทรวงมหาดไทย ใช้งบกลาง 2,000 ล้านบาทสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์

ภูมิภาค 

สังศิตฯ นำกรรมาธิการลดความเหลื่อมล้ำฯวุฒิสภาจับมือกระทรวงมหาดไทย ใช้งบกลาง 2,000 ล้านบาทสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 –27 ตุลาคม 2566 ผศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภาพร้อมคณะร่วมกับผู้แทนกรมปกครอง,ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น,ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง,ผู้แทนกรมพัฒนาชุมชนลงศึกษาดูงานพื้นที่จริงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ที่แล้วเสร็จเพื่อเพื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติ คุณประโยชน์ต่างๆ ของฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ทั้งในส่วนของประสิทธิภาพ ความคงทน สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน


โดยคณะศึกษาดูงานได้ร่วมเสวนากับจังหวัด/อำเภอ/อปท.พร้อมหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง/นักวิชาการ/ภาคประชาสังคม พร้อมกับลงพื้นที่การก่อสร้างฝายขนาดจิ๋วและการบริหารจัดการน้ำชุมชนพื้นที่ตำบลบ่อสวก อ.เมืองจ.น่าน ดูการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ขนาดเล็ก-กลางและการบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นที่ตำบลเชียงม่วน อ.เชียงม่วน จังหวัดพะเยา และดูการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดแพร่

 

ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และพิสูจน์ตัวเองต่อคณะศึกษาดูงานถึงความประหยัด/สร้างได้เร็ว/ทนทาน/กักเก็บน้ำได้ดีทั้งน้ำผิวดินและเติมน้ำใต้ดิน/การฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม/การสร้างทางเลือกอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ลำห้วยแขนง/ลำห้วยย่อย/ลำห้วยหลัก/ลำน้ำสาขาและลำน้ำหลักซึ่งเป็นอีกทางเลือกแนวทางหนึ่งในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศในระยะยาว


ผศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้กล่าวว่า” จากการเข้าพบหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้วยกลยุทธ์การสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานของแต่ละฝ่ายเพื่อทำงานร่วมกัน และได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบด้านการจัดทำแบบมาตรฐานและราคากลางของฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์

ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในเร็ววันนี้ และจากปัญหาที่ อปท. ต้องส่งโครงการที่เกี่ยวกับน้ำเข้าสู่ระบบ Thai Water Plan แต่ได้รับการอนุมัติน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เพราะขาดความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการเตรียมข้อมูลและการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ได้เข้าพบหารือกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี จึงได้เสนอแนะให้แยกการพิจารณาอนุมัติโครงการเกี่ยวกับน้ำ เป็นดังนี้


1.คณะกรรมการจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น โดยให้โครงการน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเสนอโครงการผ่านระบบ Thai Water Plan เช่นเดิม


2.คณะกรรมการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน โครงการน้ำขนาดเล็กไม่ต้องเสนอผ่านระบบ Thai Water Plan แต่ให้ อปท. จัดทำโครงการเสนอผ่านทางจังหวัด และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จากนั้นส่งให้คณะกรรมการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กพิจารณา แล้วให้ส่งไปลงบันทึกในระบบของ สทนช.

โดย อปท. ต้องเตรียมเขียนโครงการที่เกี่ยวกับน้ำไว้ให้พร้อม เพราะถ้ารัฐบาลมีนโยบายและงบประมาณ แต่ยังคงมีมาตรฐานเช่นเดียวกับโครงการที่ส่งผ่านระบบ Thai Water Plan เช่น การขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ แบบฟอร์ม ปร.4 ปร.5 เป็นต้น


ตนเห็นว่าด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ในเบื้องต้นจึงควรเน้นการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ไว้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสานที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อลดผลกระทบปัญหาน้ำท่วมทั้งในพื้นที่ของตนเองและพื้นที่ภาคกลาง “ ผศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา กล่าวในท้ายที่สุด


ทีมข่าวภูมิภาค

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

รายงาน

Copyright © 2023 สํานักข่าวภูมิภาค.com All rights reserved.