กฟผ. เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต ผสานกายใจร่วมภารกิจฟื้นฟูคืนพื้นที่ให้ชุมชน เร่งเคลียร์ดินโคลน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

กฟผ. เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต ผสานกายใจร่วมภารกิจฟื้นฟูคืนพื้นที่ให้ชุมชน เร่งเคลียร์ดินโคลน อ.แม่สาย จ.เชียงราย


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง พร้อมเคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต ได้สนับสนุนส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัย ล่าสุด บริเวณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 มวลน้ำขนาดใหญ่ได้หอบดินโคลนปริมาณมหาศาล มาพร้อมกับสิ่งปฏิกูลพัดพาถาโถมเข้าใส่บ้านเรือนประชาชนหลายร้อยหลังคาเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนัก และแม้ว่าสถานการณ์น้ำจะคลี่คลายลดระดับลงแต่ชาวบ้านยังต้องเผชิญกับดินโคลนที่หนาเตอะและเศษซากปรักหักพังทับถมภายในอาคารบ้านเรือน ซึ่งยากที่ชาวบ้านจะทำความสะอาดได้เพียงลำพัง


โดยผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ ได้ระดมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ร่วมเข้าทำความสะอาดพื้นที่ห้วงระหว่างวันที่ 18-29 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา , ศูนย์อาสาล้างบ้าน , มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ขณะเดียวกัน ยังได้ส่งถุงยังชีพไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยภารกิจดังกล่าวนอกจากจะเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมแล้วยังเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยอีกด้วย


นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เปิดเผยว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. ได้กำชับและสั่งการให้แต่ละพื้นที่เร่งระดมส่งความช่วยเหลือทั้งเครื่องจักรกลและกำลังคน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด ภายใต้โครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
กฟผ.แม่เมาะ จึงได้ระดมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ทั้งรถตักหน้าขุดหลัง , รถขุดล้อยาง , รถบรรทุกเทท้าย 6 ล้อ และ 10 ล้อ , รถบรรทุกน้ำ และรถเทรลเลอร์ รวมจำนวน 9 คัน ไปสมทบกับผู้ปฏิบัติงานและเครื่องจักรกลของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ , ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.) , เขื่อนภูมิพล (อขภ.) , เขื่อนสิริกิติ์ (อขส.) , สำนักงานใหญ่ กฟผ. และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมเครื่องจักรกลขนาดใหญ่เกือบ 20 คัน
โดยมีภารกิจหลักขนดินโคลน เก็บกวาดขยะ สิ่งของ และฉีดล้างทำความสะอาดคราบโคลน เร่งรัดเปิดเส้นทางสัญจร คืนความสะอาดให้กับชุมชน ซึ่งได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาชน ที่ต่างระดมสรรพกำลังฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด


สำหรับภารกิจที่ กฟผ. ได้รับมอบหมายจะมีการประชุมกันวันต่อวัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามสภาพหน้างาน อุปสรรคใหญ่ของการฟื้นฟูนำดินโคลนออกคือเรื่องสภาพพื้นที่ที่คับแคบและเป็นพื้นที่ชุมชน เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ทำงานค่อนข้างลำบาก การทำงานต้องใช้เวลา แต่เราเองก็ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อคืนพื้นที่ให้ชุมชนโดยเร็วที่สุด“ภารกิจนี้เราไม่ได้ทำงานคนเดียว ร่วมกับหลายหน่วยงาน การประสานงานที่ดี คุยงานกันทำให้การทำงานไม่ขลุกขลัก ราบรื่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ด้วยดี ต้องขอบคุณผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ทุกๆ คน ทั้งคนที่ลงพื้นที่หน้างาน และผู้สนับสนุนต่างๆ ในพื้นที่ กฟผ. ขอบคุณมากที่เสียสละเวลาตัวเอง การลงพื้นที่ทำงานไม่ได้ไปด้วยความสะดวกสบาย เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบภัย และทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และการทำงานครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือชุมชน กฟผ. อยู่เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต” นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) กล่าว


ขณะที่ นายพัชระ นามะเสน วิศวกรระดับ 7 แผนกสนับสนุนปฏิบัติการบ่อเหมือง (หสม-ช.) กองจัดการน้ำและสนับสนุนปฏิบัติการ (กจส-ช.) อผม. (ฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ) ในฐานะตัวแทนผู้ปฏิบัติงานที่ได้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจโครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 18-29 กันยายน 2567 กล่าวว่า ภารกิจวันแรกของทีมได้เข้าฟื้นฟูบริเวณชุมชนถ้ำผาจม ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ถือเป็นพื้นที่สีแดงด่านแรกรองรับน้ำจากแม่น้ำสาย สภาพแรกที่เห็นต้องยอมรับว่าหนักมาก ดินโคลนปิดทับเส้นทางสัญจร บ้านเรือนหลายหลังบริเวณชั้น 1 ถูกดินโคลนปิดทับ 100% ข้าวของภายในบ้านเสียหายเกือบหมด บางหลังถูกกระแสน้ำพัดพังเสียหาย ซึ่งชาวบ้านเองก็พยายามช่วยเหลือตัวเองแต่ด้วยปริมาณโคลนที่มหาศาลก็เกินความสามารถที่จะกำจัดได้


ในแต่ละวันแต่ละทีมที่ร่วมภารกิจฟื้นฟูชุมชนถ้ำผาจม จะมีการประชุมวางแผนการทำงานบูรณาการความร่วมมือทั้งกำลังคน เครื่องจักรกล แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบครอบคลุม 2 ตำบล ได้แก่ เทศบาลตำบลเวียงพางคำ และเทศบาลตำบลแม่สาย อ.แม่สาย ภารกิจมีทั้งการล้างโคลนที่ปิดทับเส้นทางสัญจร ทำความสะอาดบ้านเรือน และวางบิ๊กแบคทำแนวคันดินเสริมตลิ่งแม่น้ำสาย


ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะพื้นที่คับแคบ เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยการบริหารจัดการเครื่องจักรกล และการสื่อสารกันระหว่างกันทั้งทีม กฟผ. และทีมอื่นที่บูรณาการร่วมกัน จัดการทำงานให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้การทำงานราบรื่น เป็นไปตามเป้าหมาย ยิ่งไปกว่านั้น ต้องทำงานแข่งกับเวลา ทุกทีมเริ่มทำงานตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงช่วงหัวค่ำทุกวัน เพื่อคืนพื้นที่ให้กับชุมชนโดยเร็วที่สุด ไม่เพียงแต่ ปริมาณดินโคลนที่มีมหาศาลแล้ว อุปสรรคสำคัญระหว่างการทำงานก็คือ เศษซากปรักหักพังเศษเหล็ก ตะปู และของมีคม ที่ชาวบ้านเริ่มกวาดกองทำความสะอาด ทำให้เครื่องจักรล้อยางที่ทำงานเหยียบย่ำ เกิดการฉีกขาด ต้องปะและซ่อมแซมตลอด
“ในฐานะตัวแทนของผู้ปฏิบัติงานที่ได้ร่วมภารกิจโครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย รู้สึกดีใจภูมิใจ ถือเป็นความทรงจำที่ดี นับเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ แสดงให้เห็นว่าในทุกวิกฤต มีโอกาสให้เราได้แสดงบทบาท แสดงพลังความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน กฟผ. หน่วยงานของเราอยู่เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต EGAT for all พร้อมดูแลช่วยเหลือกันไปตลอด ในส่วนของชาวบ้านเองเค้าก็รู้สึกดีใจที่เห็นหลายความช่วยเหลือ บางคนถึงกับน้ำตาไหล กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ หลายครอบครัวไม่เหลืออะไรเลย ไม่รู้ว่าจะกลับมาตั้งตัวยังไง ทุกๆ เย็นเวลาเลิกงาน นำเครื่องจักรกลไปจอดยังจุดจอด ชาวบ้านจะมาให้กำลังใจ ยืนรอปรบมือ ส่งกำลังใจให้ทีมงาน ทำให้เราตื้นตันใจ มีกำลังใจปฏิบัติงานต่อ อยากให้ทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้ชาวบ้านได้กลับเข้าสู่บ้านพักโดยเร็ว” นายพัชระ นามะเสน วิศวกรระดับ 7 แผนกสนับสนุนปฏิบัติการบ่อเหมือง (หสม-ช.) กองจัดการน้ำและสนับสนุนปฏิบัติการ (กจส-ช.) อผม. (ฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ) กล่าว


แม้ว่าภารกิจโครงการฟื้นฟูชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ของทีม กฟผ. จะสิ้นสุดลง มีการส่งมอบพื้นที่ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้กับเทศบาลตำบลเวียงพางคำ และถอนกำลังออกจากพื้นที่แล้ว แต่การฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยยังคงดำเนินต่อไปด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติโดยเร็วที่สุด

พรปวีณ์ สุรินทร์มงคล / รายงาน

Copyright © 2023 สํานักข่าวภูมิภาค.com All rights reserved.