นายกแสวง ทต.บ้านโคก เน้นท่องเที่ยวในพื้นที่ เชิงอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมเมืองที่เมืองน้อง ” และเชิญเที่ยวงานบุญกองข้าวใหญ่ ประจำปี 2567 เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ลาว ช่องห้วยต่าง(มีคลิป)

นายกแสวง ทต.บ้านโคก เน้นท่องเที่ยวในพื้นที่ เชิงอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมเมืองที่เมืองน้อง ” และเชิญเที่ยวงานบุญกองข้าวใหญ่ ประจำปี 2567 เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ลาว ช่องห้วยต่าง (มีคลิป)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พย. 66 นายแสวง ดวงสุภา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านโคก อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ กล่าวเปิดเผยว่า บ้านโคก เป็นอำเภอ 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดอุตรดิตถ์ทางภาคเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ 1,055.911 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 6,599,433 ไร่ มี 7 หมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าว ข้าวโพด สับปะรดและยางพารา นอกจากนี้ยังมี

พื้นที่ติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เทศบาลตำบลบ้านโคก จึงมีด่านประเพณีเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ กับทาง สปป.ลาว เรียกด่านนี้ว่า จุดผ่อนปรนตลาดการค้าช่องห้วยต่าง ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองไผ่ หมู่ที่7 มีการเปิดด่านทุกวันพุธ โดยมีพี่น้องประชาชนลาว นำสินค้ามาขายแลกเปลี่ยนกับพี่น้องคนไทยอำเภอบ้านโคก เป็นจุดแข็งช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับเทศบาลในระดับหนึ่ง

นายแสวง  กล่าวว่า ทุกปีทางเทศบาลตำบลบ้านโคกจะจัดให้มีงานสืบสานประเพณีบุญกองข้าวใหญ่ ณ สนามกีฬาภูเวียง หน้าที่ว่าการอำเภอบ้านโคก “บุญกองข้าว” ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-28 มกราคม 2567 เป็นงานบุญประเพณีของชาวบ้านโคกที่แสดงให้เห็นจิตวิญญาณ ของชุมชนที่ดำรงอยู่ด้วยวิถีเกษตรกรรมมาช้านาน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ด้วยสำนึกในบุญคุณของข้าวที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนทุกคน ทั้งนี้ ยังเป็นการแสดงออกถึงพลังแห่งความร่วมแรงร่วมใจของชุมชนทั้ง 7 หมู่บ้าน เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณที่กล้าแกร่งของชาวนา มีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าวโดยมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี ส่วนในวันเปิดงานนั้นจะมีพิธีเปิดงานในวันที่ 26 มกราคม 2567 

“ ในการเตรียมทำบุญกองข้าวใหญ่นั้น เมื่อก่อนจะต้องจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน การนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นให้สูงเรียกว่า “คูณลาน” จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบน้ำหอมไว้ประพรมซึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว เมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้วถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นนำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงญาติพี่น้อง ผู้มาร่วมทำบุญ พระสงฆ์ก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าวแก่เจ้าภาพ พร้อมนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปปะพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็นสิริมงคล”

นายแสวง  กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันการทำบุญกองข้าวใหญ่ หรือบุญคุณลานนั้น นับวันยิ่งจะเลือนหายไป จากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติ ปฏิบัติกัน เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านประเพณีและวัฒนธรรม ปัจจุบันในการทำนาของชาวนานั้น ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จและมัดข้าวเป็นฟ้อนๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนาโดยไม่มีลานนวดข้าว หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบและในปัจจุบันยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องสีข้าวเป็นส่วนมากจึงทำให้ประเพณีบุญกองข้าวใหญ่ เริ่มเลือนหายไป แต่ก็ยังมีบางหมู่บ้านบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมากองรวมกันเรียก”กองข้าวใหญ่” ซึ่งจะเรียกว่าบุญกองข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน นับว่าเป็นการ ประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับยุคสมัยและประเพณีที่สืบทอดกันมา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านโคก เปิดเผยว่า ชาวบ้านโคกเชื่อว่า “แม่พระโพสพ”  มีอำนาจสามารถดลบันดาลให้ข้าวมีความเจริญงอกงามและนำความอุดมสมบูรณ์มาให้แก่ชาวนาที่บูชาเทวีแห่งข้าว จึงมีพิธีบูชาแม่พระโพสพก่อนที่จะลงมือทำนาหรือระหว่างตกกล้า จนข้าวตั้งท้องออกรวงไปจนถึงการเก็บเกี่ยวในที่สุดการทำพิธีบูชาแม่พระโพสพนั้นจะทำพิธีทางพราหมณ์ตามประเพณีปฏิบัติของบรรพชนเรียกว่า”พิธีสู่ขวัญข้าว” เพราะถือคติความเชื่อว่าขณะที่เราทำนาเกี่ยวข้าวและนวดข้าวเราใช้เท้าเหยียบย่ำข้าวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมทำพิธีบูชาแม่พระโพสพเพื่อขอขมาจะได้เป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัวให้มีแต่ความผาสุขเมื่อหมอขวัญมาทำพิธีสู่ขวัญข้าว เสร็จพิธีแล้วก็จะมีการเฉลิมฉลองบุญกองข้าวหรือที่ชาวบ้านโคกเรียกว่า “อ่มกองข้าว” ทางเทศบาลตำบลบ้านโคก เล็งเห็นความสำคัญที่จะส่งเสริมและบำรุงรักษาจารีตประเพณีและวัฒนธรรมและการบำรุงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวตำบลบ้านโคก สืบต่อลูกหลานสืบต่อไป เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่งานประเพณีก่อเจดีย์บุญกองข้าวใหญ่ของตำบลบ้านโคก ส่งเสริมการท่องเที่ยวของตำบลบ้านโคกให้คนทั่วไปรู้จักมากยิ่งขึ้น เป็นการฟื้นฟูสืบทอด อนุรักษ์ ส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีก่อเจดีย์บุญกองข้าวใหญ่ ปลูกฝังให้ประขาชนและเยาวชนได้ซาบซึ้ง เกิดความประทับใจ ภาคภูมิใจในกิจกรรมท้องถิ่นของตนเอง รวมถึงรู้จักหวงแหนประเพณีวัฒนธรรมพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมงานขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามของชาติ ช่วยส่งเสริม และทำนุบำรุงรักษาประเพณีกองข้าวใหญ่ มรดกทางวัฒนธรรมที่ดีของบรรพบุรุษไทยที่ได้สร้างมาได้สืบทอดต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมความเข้าใจ ความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะของท้องถิ่นของชุมชนด้วย ”  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านโคก กล่าว

นายแสวง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านโคก กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายในงานมี ขบวนแห่ข้าวเปลือก บายศรีข้าว การแต่งกายพื้นบ้านของแต่ละหมู่บ้าน พิธีบายศรีข้าว พิธีทำบุญกองข้าวใหญ่ การประกวดอาหารพื้นบ้าน  จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และต่างจังหวัด ร่วมงานประเพณีบุญกองข้าวใหญ่ ร่วมจับจ่ายซื้อสินค้าพื้นเมืองภายในงาน และร่วมจับจ่ายซื้อสินค้าที่ด่านประเพณีห้วยต่าง เป็นการนำสินค้าจากประชาชนเพื่อนบ้านนำมาขายที่ด่านประเพณีแห่งนี้ทุกวันพุธ เพื่อส่งเสริมการค้าขายร่วมกันระหว่างไทย-ลาว ที่บริเวณช่องภูต่าง.

 

เอนก ธรรมใจ
รายงาน

Copyright © 2023 สํานักข่าวภูมิภาค.com All rights reserved.