ชาวบ้าน ร้องสอบ ‘อบจ.สุราษฎร์ฯ’ หลังพบพิรุธการจัดซื้อจัดจ้าง งานปลายฝนต้นหนาว อาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ ออแกไนซ์

 

 

ชาวบ้าน ร้องสอบ ‘อบจ.สุราษฎร์ฯ’ หลังพบพิรุธการจัดซื้อจัดจ้าง งานปลายฝนต้นหนาว อาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ ออแกไนซ์

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมตัวทำหนังสือร้องเรียนถึงหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องการ “ฮั้วประมูล” โดยขอให้ตรวจสอบและดำเนินคดีในการทุจริตประกวดราคาจัดจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โครงการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ปลายฝนต้นหนาว สุราษฎร์ธานี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ บริเวณจุดชมวิวเขื่อนรัชประภาและลานอเนกประสงค์หน้าเทศบาลตำบลบ้านเชี่ยวหลาน อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งใช้งบประมาณในการจัดจ้าง 4,829,000 บาท 

 

โดยพบพิรุธและหลักฐานในการทุจริต (ฮั้วประมูล) อาทิ ทีมออแกไนซ์ ที่เข้าประมูล มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ในวันที่ 19 ธ.ค.2566 เพื่อ เชิญชวนคนไปเที่ยวงาน พร้อมกับนำรูปภาพของศิลปินและและวงดนตรีที่จะขึ้นคอนเสิร์ตในช่วงการจัดงาน รวมถึง โพสต์เรื่องข้อมูลการประกวด มิสเชี่ยวหลาน ที่จะจัดขึ้น วันที่ 29 มกราคม 2567 

มาแจ้งให้สมาชิกเฟซบุ๊กรับทราบ ทั้งที่ความเป็นจริง จะมีการประมูลราคาจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ขึ้นในวันที่ 5 มกราคม 2567 จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดทีม organize จึงโพสต์ข้อความดังกล่าว ไปก่อนที่จะมีการจัดประมูลราคาจัดซื้อจัดจ้าง 

 

 

 

 

อีกทั้ง ความไม่ชอบมาพากลที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการปฏิบัติที่ไม่โปร่งใสมากที่สุด นั่นคือ เมื่อมีการยื่นประกวดราคาจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้ยื่นเสนอราคาหลายราย แต่กลายเป็นว่าไม่มีการประกาศผู้ชนะการประมูล แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กลับออกประกาศให้มีการยกเลิกการประกวดราคาจัดจ้างในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า “มีผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย แต่ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียว” ซึ่งออกประกาศ ณ วันที่ 10 มกราคม 2567 

 

ที่สำคัญ หลังจากที่มีการประกาศให้มีการยกเลิกการประกวดราคาจัดจ้างในวันที่ 10 มกราคม 2567 แต่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กลับไม่ได้ดำเนินการเปิดให้มีการประกวดราคาจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) อีกครั้ง แต่กลับเลือกที่จะใช้วิธีการ “ประกวดราคาโดยวิธีเฉพาะเจาะจง” ซึ่งราคากลางที่กำหนดไว้ในการจัดจ้าง คือ 4,850,000 บาท (เป็นมูลค่าที่สูงกว่า 500,000 บาท ตามข้อกฎหมายกำหนดวิธีการไว้ให้ทำการประกวดราคาจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) อีกทั้งไม่มีเหตุผลจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้วิธีการประกวดราคาโดยวิธีเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด)ซึ่งการกระทำลักษณะนี้ อาจ เข้าข่ายเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคากันอย่างแท้จริง และเป็นธรรมอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสนอราคาเฉพาะรายหรือไม่ 

 

 

 

จากพฤติการณ์และหลักฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงทำหนังสือร้องเรียนไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยดำเนินการตรวจสอบผู้ที่มีส่วนรู้เห็นกับการฮั้วประมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสและความถูกต้องตามกฎหมายในการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

ขอขอบคุณเครดิตภาพข่าว

ทีมข่าวภูมิภาค

รายงาน

Copyright © 2023 สํานักข่าวภูมิภาค.com All rights reserved.